รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล (สกุลเดิม วานิชวัฒนา) เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2486 ที่กรุงเทพมหานคร อาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาล ปี 1959 ที่สหรัฐอเมริกาด้วย และคว้าตำแหน่งนางงามมิตรภาพ หรือ Miss Amity มาครองได้สำเร็จ
รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปะการละคร ผู้ร่วมก่อตั้งชมรมดนตรีสากล สจม. (C.U. BAND) ก่อตั้งโรงเรียนการแสดงที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นผู้กำกับละครคำพิพากษา และเป็นผู้ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน (Candlelight Blues)
รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล สมรสกับรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ตรง พันธุมโกมล อดีตหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออโธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักดนตรี ผู้เชี่ยวชาญ และอดีตประธานชมรมดนตรีสากลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน
รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล สำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2499 และเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรี แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีเดียวกัน พ.ศ. 2500 ได้รับทุนฟุลไบรต์ไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโทสาขาศิลปะการละคร จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ณ นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2505 จากนั้น กลับมารับราชการที่คณะอักษรศาสตร์ และได้เจริญก้าวหน้าในราชการเป็นลำดับมา กระทั่งได้รับตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2519 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งประถมาภรณ์ช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมหาวชิรมงกุฎ เป็นบำเหน็จความชอบในราชการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำหลักสูตรวิชาศิลปะการละครเป็นวิชาเอกของนิสิตอักษรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2507 และก่อตั้งแผนกวิชาศิลปะการละครขึ้นในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2514 ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนสาขาวิชานี้อย่างครบวงจร เป็นแม่แบบของหลักสูตรวิชาการละครและการแสดงในสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนียังอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของวงการด้านศิลปะการละคร ตลอดจนกิจการสาธารณประโยชน์อื่น ๆ อาทิ เป็นกรรมการพิจารณาโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการบริหารสถานีวิทยุจุฬาฯ เป็นกรรมการร่างและตรวจพิจารณาหลักสูตรการละครของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนการแสดงของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นต้น
ในด้านวิชาการ รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล มีผลงานวิชาการเป็นจำนวนมาก ที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับคือหนังสือเรียนศิลปกรรม ศ 031 ศิลปการละครเบื้องต้น ตอนที่ 1 : หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีพุทธศักราช 2524 ศิลปะของการแสดง (ละครสมัยใหม่) และปริทัศน์ศิลปะการละคร ตำราดังกล่าวเป็นเอกสารที่ใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในวงการศึกษา วิชาการ วิชาชีพ รวมทั้ง ผู้สนใจทั่วไป ตลอดชีวิตการรับราชการกว่าสามสิบปี รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล ยังพากเพียรผลิตผลงานวิจัย สร้างสรรค์เรื่อง การวิเคราะห์ปัญหาและวิธีแก้ปัญหาของนักแสดง ในการกำกับการแสดงละครสมัยใหม่ แนวต่าง ๆ ในประเทศไทย นับเป็นผลงานอันทรงคุณค่ายิ่ง เป็นการนำองค์ความรู้ทางวิชาการไปใช้ให้ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังมีผลงานกำกับการแสดงละครเวทีให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ตุ๊กตาแก้ว แผลในดวงใจ:ผู้แพ้ -ผู้ชนะ เกิดเป็นตัวละคร คนดีที่เสฉวน ยอดปรารถนา พรายน้ำ และกำกับการแสดงละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 คือ คำพิพากษา คนดีศรีอยุธยา จนได้รับรางวัลเมขลา สาขาผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2527
ผลงานทั้งด้านการศึกษา วิชาการ และงานสร้างสรรค์ของรองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล ล้วนเป็นแบบอย่างให้แก่วงวิชาการและวิชาชีพศิลปะการละคร ทั้งการเรียนการสอน การสร้างสรรค์ การเขียนบท การแสดง การกำกับการแสดง การสอนการแสดง ตลอดจนการประเมินผลงานศิลปะการละคร เป็นผู้ให้หลักคิดและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นระบบระเบียบ มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล มีหลักเกณฑ์และเหตุผลที่เป็นปรวิสัยมากกว่าอัตวิสัย เป็นทักษะที่สอนและถ่ายทอดให้กันได้ ฝึกฝน แก้ไข และพัฒนาได้ และที่สำคัญยิ่งคือเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีจรรยาบรรณอันสำคัญในการเชื่อมโยงศิลปะกับความจริง และเชื่อมโยงศาสตร์สากลกับชีวิตของคนไทย ด้วยความรับผิดชอบทั้งต่องานศิลปะ ผู้เรียน ผู้ชม สังคม และประเทศชาติโดยรวม
แม้เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล ก็ยังสละเวลาอันมีค่าให้แก่งานสอนทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและมหาบัณฑิตในฐานะอาจารย์พิเศษที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดมา นับตั้งแต่ พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปะการละครอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ประกอบกิจกรรมอันเป็นคุณประโยชน์แก่คณะอักษรศาสตร์ ทำให้ได้รับรางวัลนิสิตเก่าดีเด่นคณะอักษรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2546 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำกับการแสดงละครเวทีเพื่อระดมทุนก่อตั้งมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับใช้ในการจัดซื้อ และติดตั้ง ระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารจัดการและบำรุงรักษาอาคารมหาจักรีสิรินธร ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ และการกำกับการแสดงละครเวทีเพื่อระดมทุนสมทบมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดซื้อ และติดตั้งระบบและอุปกรณ์ด้านเทคนิคต่าง ๆ ในโรงละครอักษรศาสตร์แห่งใหม่